วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556
การปลูกสาคู
สาคู
เมื่อกล่าวถึงต้นสาคู มีคนจำนวนมากที่ไม่รู้จัก หรือไม่เคยเห็น แต่ก็มีมากที่เคยได้ยิน และรู้จัก และมีความรู้แตกต่างกันออกไป บางคนนึกถึงต้น สาคูที่เป็นต้นไม้ยืนต้น เป็นต้นไม้ประเภทปาล์ม คล้ายต้นมะพร้าว ใช้ส่วนของลำต้นนำมาทำเป็นเม็ดสาคู หรือแป้งสาคู เมื่อสมัยนานมาแล้ว เนื่องจากต้นไม้ชนิดนี้มีจำนวนน้อย ไม่มีการปลูกเพิ่มขึ้น ปริมาณการผลิตเม็ดสาคูจาก "ต้นสาคู" (sago palm) จึงลดน้อยลงและหมดไป และหันมาผลิตสาคูจากแป้งมันสำปะหลังแทน จนกระทั่งในปัจจุบันนี้ เม็ดสาคูผลิตจากแป้งมันสำปะหลังทั้งสิ้น ต้นสาคู ที่กล่าวนี้เป็นไม้ยืนต้น จึงไม่จัดเป็นพืชหัว และจะไม่นำมากล่าวในที่นี้
สาคูที่จะกล่าวในที่นี้ หมายถึง ต้นสาคูที่เป็นพืชหัวชนิดหนึ่ง เนื่องจากเราใช้หัวเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ต้นสาคูที่เป็นต้นไม้ประเภทปาล์ม ที่เรียกว่าต้นสาคู ประโยชน์ที่สำคัญคือ เป็นอาหาร แป้งที่ได้จากหัวสาคูนี้ เป็นแป้งในรูปของคาร์โบไฮเดรตที่บริสุทธิ์ที่สุดชนิดหนึ่ง เป็นแป้งที่มีความเหนียวมาก ย่อยง่าย เป็นที่นิยมในตลาดโลก มีราคาแพงกว่าแป้งชนิดอื่น มีหลายประเทศที่สามารถผลิตแป้งสาคูได้มาก จนสามารถส่งเป็นสินค้าออกทำเงินให้แก่ประเทศปีละมากๆ ประเทศไทยใช้สาคู เพื่อการบริโภคภายในประเทศ และมีปริมาณไม่มากนัก ถ้ามีการผลิตแป้งจากสาคู เพื่อการค้าได้ จะทำให้สาคูเป็นพืชที่มีความสำคัญมากขึ้น
ประเทศไทยไม่มีสถิติเกี่ยวกับการปลูก การผลิต การค้า แต่เซนต์วินเซนต์ (St. Vincent) ส่งออก ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๑๐ ปีละ ๒,๐๘๗ ตัน บราซิล ส่งออกในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ปีละ ๑๓๙ ตัน
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)