วันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2555

การเลี้ยงฮวก หรือ ลูกอ๊อด อนาคตรุ่ง

หมกฮวก ซึ่งถือเป็นเมนูจานเด็ดที่อยู่คู่ชาวอีสานมาช้านาน แม้จะโด่งดังไม่เท่าส้มตำ แต่ชาวอีสานแท้ๆ ก็นิยมบริโภคกันมาก เรียกว่าจะขาดไม่ได้
การที่มีความต้องการบริโภคหมกฮวกกันมาก ลูกกบหรือลูกอ๊อดตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่นำมาทำเป็นหมกฮวกจึงลดน้อยลงและเริ่มขาดแคลน จึงมีเกษตรกรสมองใสคิดเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดหรือลูกกบป้อนตลาดเพื่อไม่ให้ขาดแคลน 
นายวุฒิ ทองดีเกษตรกรหนุ่มวัย 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 315 หมู่ 4 บ้านคำมะดูก ต.บุ่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ได้เล่าถึงความเป็นมาในการเพาะเลี้ยงฮวก (ลูกอ๊อด) ว่าตนได้ทดลองลงมือเพาะเลี้ยงฮวกมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2539 ซึ่งตนมีผืนนาอยู่ประมาณ 4 ไร่เศษ เป็นพื้นที่สูง ทำนาได้ข้าวปีละไม่กี่ถัง ลำพังนำมาเลี้ยงครอบครัวยังไม่เพียงพอ อย่าว่าแต่นำไปขายเลย เปลี่ยนไปทำการเพาะปลูกแตงกวาก็ไม่ประสพผลสำเร็จ จึงได้ทดลองเลี้ยงฮวกขาย โดยการปรับพื้นที่นาผืนเดิมให้เป็นบ่อเพาะเลี้ยง ทำเป็นบ่อคอนกรีต (บ่อปูนซีเมนต์) จำนวน 10 บ่อ บ่อดินสำหรับเลี้ยงฮวก 25 บ่อ การเพาะพันธุ์ และการจำหน่าย
แต่ละบ่อมีขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 8 เมตร ลงทุนไปซื้อกบพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาจาก จ.สุพรรณบุรี จำนวน 150 ตัวๆ ละ 250 บาท เป็นกบพันธุ์นางนวล ต่อจากนั้นก็มีการขยายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เอง
โดยจะเก็บกบพันธุ์ไว้ปีละ 4,000 ตัว ตัวมีย 2,000 ตัว ตัวผู้ 2,000 ตัว กบพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แต่ละรุ่นจะสามารถให้ผลผลิตได้ถึงระยะเวลา 2 ปี ต่อจากนั้นก็จะเปลี่ยนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กบรุ่นเดิมก็จะถูกนำไปปล่อยตามท้องไร่ท้องนา จะไม่ขายหรือฆ่า ซึ่งกบแต่ละรุ่นจะให้ลูกฮวกได้นานถึง 8 ครั้ง ในการผสมก็จะใช้วิธีการธรรมชาติ และทางเทคนิค โดยลูกฮวกเกิดใหม่จะพักไว้ในบ่ออนุบาล 7 วัน ต่อจากนั้นก็จะนำลงไปปล่อยเลี้ยงในบ่อดินที่เตรียมไว้ เลี้ยงอยู่ประมาณ 15 วัน ก็สามารถได้ลูกฮวกที่โตได้ขนาดพอขาย ราคาขายส่ง 200 บาท/กิโลกรัม ถ้าเป็นขายปลีกก็ราคา 300 บาท/กิโลกรัม
ในแต่ละบ่อดินที่ทำการเพาะเลี้ยงจะสามารถได้ลูกฮวกประมาณ 70 กิโลกรัม/ 1 บ่อ ถ้ารวมทั้งหมดก็จะประมาณ 1,750 กิโลกรัม/รุ่น ลูกค้าที่มาซื้อก็มีทั้งในและต่างจังหวัด อาทิ กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษฯ โดยเฉพาะที่ จ.กาฬสินธุ์ถือได้ว่าเป็นขาประจำ จะลงมาซื้อครั้งละ 200-300 กิโลกรัม ซึ่งก็จะทำให้มีรายได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการเพาะเลี้ยงฮวกจะเป็นการเพาะเลี้ยงนอกฤดูกาล ซึ่งปกติฮวกธรรมชาติทั่วไปจะมีในฤดูฝนเท่านั้น ถ้าคิดต่อรุ่นก็สามารถทำเงินให้ประมาณ 300,000-400,000 บาท
 ในขณะที่เราใช้เวลาเลี้ยงฮวกอยู่ประมาณ 21-25 วัน แต่ก็จะมีข้อจำกัดในการเพาะเลี้ยงอยู่ว่า ต้องเพาะเลี้ยงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม เท่านั้น ต่อจากนั้นก็จะเก็บกบพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไว้จนถึงฤดูกาลเลี้ยงอีกที ในส่วนของอาหารกบและฮวกเราจะให้หัวอาหารเม็ด 2 เวลา คือ เช้า-เย็น นอกนั้นกบหรือฮวกยังกินดินโคลนหรือแมลงต่างๆ เป็นอาหารอีก ก็นับว่าเพาะเลี้ยงง่ายโตเร็ว ขายก็ง่าย เป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค
ในเรื่องของการตลาดแล้วถือได้ว่ามีความสดใสมาก เพราะลูกฮวก นอกฤดูกาลตามธรรมชาติ ประชาชนจะชื่นชอบมาก จะนำลูกฮวกไปประกอบเป็นอาหารเมนูเด็ดได้หลายอย่าง เช่น หมกฮวก อ่อมฮวก แกงใส่หน่อไม้ดอง โดยเฉพาะชาวอีสานแล้วจะชื่นชอบเป็นพิเศษ เพราะฮวกมีรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางโภชนาการ ที่สำคัญฮวกจะไม่มีกระดูก ทานก็ง่าย นอกนั้นนักตกปลายังชื่นชอบมาซื้อไปเพื่อเป็นเหยื่อตกปลาอีก เพราะลูกฮวกที่นำไปเป็นเหยื่อตกปลาจะทำให้ได้ปริมาณปลาที่ตกมาก โดยเฉพาะปลาช่อน คุ้มค่าไม่เสียเวลา สำหรับน้ำที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงเราก็จะใช้น้ำประปาบาดาลที่ขุดเจาะขึ้นเอง บางส่วนก็จะใช้น้ำคลองส่งน้ำที่ทางกรมชลประทานส่งปล่อยมาให้
ในเรื่องของปัญหาอุปสรรคก็จะเป็นจำพวกศัตรูของฮวกคือ งูชนิดต่างๆ จะชอบหลบเข้ามากินลูกฮวกในเวลากลางคืน แต่เราก็แก้ไขปัญหาโดยการนำเอาผ้าเขียวพลาสติกมาล้อมกันไว้ไม่ให้งูเข้ามากินได้ นอกนั้นก็ยังมีเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดได้ออกมาเยี่ยมฟาร์มพร้อมกับให้คำแนะนำในด้านวิชาการเพาะเลี้ยงให้อีก ก็นับได้ว่าการเพาะเลี้ยงลูกฮวกขายทำให้ครอบครัวมีรายได้อย่างมั่นคง ดีกว่าการทำนาข้าวหลายเท่า อีกอย่างในเรื่องของราคาซื้อขายก็ตกลงยินยอมซื้อขายกันเองตามท้องตลาดไม่มีการผูกขาดหรือผู้ซื้อกำหนดราคาซื้อผู้ขายกำหนดราคาขาย ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะไม่มีพ่อค้าคนกลางมากำหนดราคาแทน จะราคามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของลูกฮวก เช่นถ้าย่างเข้าฤดูฝนตกชุกฮวกตามธรรมชาติทั่วไปมี ราคาก็จะถูกลง
นายวุฒิ ยังได้เล่าให้ฟังอีกว่า ในขณะนี้ได้ขยายพื้นที่การเพาะเลี้ยงออกไปอีกโดยได้ขอซื้อที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงบ่อเลี้ยงอีกประมาณ 4 ไร่เศษ สร้างบ่อดินเพิ่มเติมอีก นอกนั้นยังได้มีการพัฒนาสายพันธุ์กบ เพื่อที่จะให้ได้ผลผลิตลูกฮวกมากขึ้น ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด และสายพันธุ์ใหม่คือ พันธุ์ ฟรูฟอกซ์ ทั้งนี้เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด และเป็นการพัฒนาอาชีพให้มั่นคงนั่นเองและในช่วงปิดเทอมปีนี้ตนได้มีการจ้างงานเด็กนักเรียนในละแวกบ้านมาช่วยทำงานเพื่อหารายได้อีกด้วย โดยได้ค่าจ้างวันละ 80-100 บาท แล้วแต่งานมากงานน้อย และก็ได้เพิ่มพื้นที่ขึ้นอีกจำนวน 2 ไร่เศษๆ

สำหรับวิธีการเพาะเลี้ยง
1.เตรียมกบพ่อพันธุ์แม่พันธุ์
2.เตรียมบ่อให้สะอาดผ่านการฆ่าเชื้อโรค
3.นำกบมาผสมพันธุ์
4.เพาะเลี้ยงลูกฮวกในบ่ออนุบาล 7 วัน
5.นำลูกฮวกไปเพาะเลี้ยงในบ่อดินที่เตรียมไว้
6.ให้หัวอาหารเม็ดวันละ 2 เวลา (เช้า-เย็น)หลังจากกบออกไข่แล้ว ประมาณ 24 ชั่วโมง ไข่กบก็ฟักออกเป็นตัว เรายังไม่ต้องให้อาหารใดๆ จนผ่านไปถึงวันที่ 3 จึงเริ่มให้อาหาร โดยเริ่มให้ทีละน้อยๆ และหมั่นสังเกตด้วยว่า ลูกกบกินอาหารหมดหรือไม่ หากหมดก็ค่อยๆ เพิ่ม หากไม่หมดก็ลดการให้อาหารลง ระยะอนุบาลลูกกบนี้ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 3 วัน หรือหากน้ำเริ่มเสียก็เปลี่ยนน้ำเร็วขึ้น ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึง 3 วัน อาหารลูกกบก็ให้อาหารปลาดุกเล็ก ราคาปัจจุบันกระสอบละ 525 บาท ระดับน้ำในคอกโดยเฉลี่ยประมาณ 30 เซนติเมตร เมื่อลูกอ๊อดอายุครบ 15 วัน ก็จะเริ่มจับจำหน่าย ลูกอ๊อดแต่ละรุ่นในหนึ่งคอกจะอยู่ที่ 80-100 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายสูงสุดกิโลกรัมละ 120 บาท ต่ำสุดก็ 80 บาท การจำหน่ายจะมีลูกค้าประจำไปรับที่ฟาร์มและลูกค้าขาจร เคยจำหน่ายได้มากที่สุดวันหนึ่งถึง 700 กิโลกรัม การบรรจุหีบห่อ ใช้ถุงพลาสติคซ้อนสองใบ ใส่ลูกอ๊อดตามขนาดของถุง อัดออกซิเจน ปิดปากถุงด้วยยางรัดให้แน่น ป้องกันการรั่วของอากาศ อายุในการขนส่งอยู่ยาวนานถึง 12 ชั่วโมง ลูกค้าที่รับไปสามารถเดินทางไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ได้โดยที่ลูกอ๊อดยังไม่ตาย

ท่านที่สนใจการเพาะเลี้ยง หรือต้องการลูกฮวกติดต่อได้ที่ คุณวุฒิ ทองดี บ้านคำมะดูก เลขที่ 315 หมู่ 4 ต.บุ่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ 37000 โทร.0-9864-5564
วิเชียร เกื้อทาน/อำนาจเจริญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น